กฎบัตรอาหารพัฒนา 40 ฟาร์มอัจฉริยะเพิ่มเศรษฐกิจท้องถิ่นแปดหมื่นล้าน
นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมปฏิบัติการการพัฒนาผังแม่บทและการวางแผนการลงทุนฟาร์มอัจฉริยะ วันที่ 17-19 ธันวาคม 2562 ณ.ออนวัลเลย์ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดยคณะกรรมการกฎบัตรแห่งชาติร่วมกับกฎบัตรเชียงใหม่ กฎบัตรนครสวรรค์ กฎบัตรอุดรธานี กฎบัตรสระบุรี กฎบัตรระยอง กฎบัตรเมืองป่าตอง และกฎบัตรกระบี่
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างผังแม่บท ประมาณการลงทุน และผลตอบแทนเบื้องต้น ดังนี้
1.ฟาร์มเชียงดาวฟาร์มเตย์ พื้นที่ 60 ไร่ มีกิจกรรมเศรษฐกิจ 12 กิจกรรม โดยมีกิจกรรมฟาร์มเตย์และกิจกรรมกลางแจ้งเป็นรายได้หลัก งบประมาณลงทุนเบื้องต้น 5 ล้านบาท ผลตอบแทนช่วง 3 ปี 50 ล้านบาท (รอปรับปรุงผังเป็นห้องประชุมขนาด 50 ที่นั่ง 2 ห้องและที่พัก 40 ห้อง) ผลตอบแทนต่อชุมชน 500 ล้านบาท
2.ฟาร์มมิตเตอร์ชวนกระบี่ พื้นที่ 100 ไร่ 8 กิจกรรมเศรษฐกิจ มีรายได้จากกิจกรรมสเต้กเฮ้าส์และร้านอาหารพื้นถิ่นเป็นหลัก งบลงทุนเบื้องต้น 25 ล้านบาท ผลตอบแทนช่วง 3 ปีต่อชุมชน 2,500 ล้านบาท ผลประกอบการ 500 ล้านบาท
3.ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมข้าวและอาหารภาคกลางพื้นที่ 15 ไร่ 8 กิจกรรมเศรษฐกิจ รายได้หลักจาก rice cafe และผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น งบลงทุน 5 ล้านบาท รายได้จากการประกอบการ 50 ล้านบาท (รอปรับปรุงเป็น ห้องประชุมขนาด 50 ที่นั่งและที่พัก 20 ห้อง) ผลตอบแทนชุมชน 300 ล้านบาท
4.ฟาร์มหนองย่างเสือมวกเหล็ก พื้นที่ 45 ไร่ 14 กิจกรรมเศรษฐกิจ งบลงทุน 5 ล้านบาท รายได้ทางตรง 50 ล้านบาท ผลตอบแทนต่อชุมชน 300 ล้านบาท
5.ศูนย์อาหารเกษตรอัจฉริยะอุดรธานี พื้นที่ 60 ไร่ 8 กิจกรรมเศรษฐกิจ งบลงทุน 50 ล้านบาท รายได้จากการประกอบการ 500 ล้านบาทช่วง 3 ปีแรก ผลตอบแทนชุมชน 1,500 ล้านบาท
6.ศูนย์การเรียนรูเกษตรอาหารพื้นถิ่นอำเภอสร้างคอม พื้นที่ 27 ไร่ 15 กิจกรรมเศรษฐกิจ รายได้หลักจากบริการจัดประชุมและอาหารพื้นถิ่น ลงทุน 5 ล้านบาท รายได้จากการประกอบการ 50 ล้านบาทในช่วง 5 ปีแรก ผลตอบแทนชุมชน 150 ล้านบาท
นายฐาปนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามแผนระยะ 3 ปี กฎบัตรของ 5 จังหวัดจะเพิ่มพื้นที่สมาร์ทฟาร์มรวมกันอย่างน้อย 40 แห่ง ประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจที่สามารถผบิตได้ในปี 2565 ไม่น้อยกว่าแปดหมื่นล้านบาท โดย แต่ละจังหวัดจะมีศูนย์เกษตรและอาหารปลอดภัยจำนวน 1 แห่งมีพื้นที่ประมาณ 5 พันตารางเมตร เป็นศูนย์กระจายสินค้าและแหล่งเรียนรู้ประสบการณ์วิถีอาหารปลอดภัยซึ่งเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมอาหารหรือเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกฎบัตรอ่หารจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ Food Innopolis ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa)
ต่อจากนี้ โครงการจะจัดประชุมทบทวนผังแนวคิดการออกแบบและพิจารณาแผนการลงทุนและการก่อสร้างอีกครั้ง โดยจัดที่มวกเหล็กวันที่ 10 มกราคม 2563 นครสวรรค์ 14 มกราคม 2563 เชียงใหม่ 29 มกราคม 2563 ส่วนการจัดประชุมของจังหวัดอุดรธานี ระยอง กระบี่ และป่าตอง จะกำหนดต่อไป
ขอบคุณบทความจาก asiaspaceplanning
https://www.asiaspaceplanning.org/post/food_char_02
Advertisement
Advertisement
