tatp.or.thtatp.or.th
tatp.or.th
สมาคมการผังเมืองไทย
  • Home
  • Our Activities
  • Mission
  • Contact
  • Home
  • Our Activities
  • Mission
  • Contact
April 19, 2016Design, Planning

004
 ภัยพิบัติ เกิดกันบ่อยมาก แนวทางการวางผังเมืองจะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติ จริงหรือเปล่า? ลองอ่านบทความนี้กันก่อน

บทความ : แนวทางการวางผังกายภาพเมืองเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ตอนที่ 1

บทความโดย ฐาปนา บุณยประวิตร
อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย
17 พฤษภาคม 2555
 thapana.asia@gmail.com/   http://www.asiamuseum.co.th/   
 www.smartgrowthasia.com
 
บทนำ
 
ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นเป็นต้นเหตุให้เกิดภัยพิบัติหลากหลายชนิด  และแนวโน้มจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  ปัจจุบันกลุ่มประเทศตะวันตกได้ตื่นตัวคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหา และพยายามลดสาเหตุของโลกร้อนด้วยการปรับปรุงกายภาพเมืองให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้นยังได้แสวงหาวิธีการเพิ่มศักยภาพของกายภาพเมืองเพื่อให้มีความสามารถในการปกป้องตัวเองจากภัยพิบัติ  สำหรับประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนแม้จะมีการกล่าวถึงปัญหานี้อยู่มาก  แต่ยังมองไม่เห็นความพยายามอย่างจริงจังในการลดสาเหตของปัญหา  รวมทั้งยังไม่พบภาพร่างแนวทางที่มีศักยภาพในการปรับปรุงกายภาพเมืองให้รองรับต่อภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น  อย่างไรก็ตาม  เพื่อเป็นทางเลือกในการปรับปรุงผังกายภาพในการลดผลกระทบจากภัยพิบัติ  วันนี้จึงขอนำบางเกณฑ์และบางกลยุทธ์จากแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) และแนวคิดลัทธิชุมชนเมืองยุคใหม่ (New Urbanism หรือ CNU)  แสดงให้เห็นโอกาสในการบรรเทาปัญหาและนำเสนอแนวทางเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
 

1

ภาพน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2554
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
 
การปรับปรุงกายภาพเมืองเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติ  แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ  ช่วงแรกเป็นการวางแผนการปรับปรุงกายเมืองก่อนการเกิดภัยพิบัติ (Pre-Disaster)  และช่วงที่สอง การปรับปรุงกายภาพเมืองหลังเกิดภัยพิบัติ (Post-Disaster)  โดยแนวทางการปรับปรุงกายภาพก่อนการเกิดภัยพิบัติซึ่งจะกล่าวในบทความตอนที่ 1 นั้น  ประกอบด้วยสาระสำคัญ 4  เรื่องได้แก่
1) การวางแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างทางกายภาพ
 2)  การวางแผนปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
3) การสร้างข้อกำหนดกายภาพเมืองตามแนวทาง Form-Based Code  และ
4) การวางแผนด้านที่อยู่อาศัย  (U.S. Department of Housing and Urban Development, 2012)  รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
 

การวางแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างทางกายภาพ

CNU  ได้พัฒนา The Transact ขึ้นเพื่อให้นักผังเมืองแบ่งส่วนประกอบทางภูมิศาสตร์ออกเป็น 6  ส่วนโดยกำหนดให้พื้นที่ธรรมชาติ (T1) และพื้นที่เกษตรกรรม (T2)  เป็นพื้นที่สงวนรักษา ส่วนพื้นที่ตั้งแต่ย่านชานเมือง (T3)  พื้นที่พาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัย (T4)  พื้นที่พาณิชยกรรมใจกลางเมือง (T5)  และพื้นที่ใจกลางเมือง (T6)  เป็นพื้นที่อนุญาตให้พัฒนา  ทั้งนี้ความเข้มข้นในการสงวนรักษาและพัฒนาในแต่ละบริเวณขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่  ส่วนประกอบทางภูมิศาสตร์ที่กล่าวถึงนี้รัฐต้องนำไปเป็นข้อกำหนดในผังเมืองรวมด้วยการกำหนดขอบเขตพื้นที่แต่ละบริเวณให้เด่นชัด ห้ามการรุกล้ำพื้นที่ในเขต T1 และ T2  เนื่องจากจะเกิดสภาพขาดความสมดุล  สำหรับเกณฑ์การสงวนรักษาพื้นที่ของการเติบโตอย่างชาญฉลาดนั้น  ได้กำหนดนโยบายไว้อย่างเด่นชัดในการอนุรักษ์พื้นที่ T1 ตลอดจนการสงวนรักษาและการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ T2  ซึ่งเน้นการสร้างระบบการจัดการพื้นที่ธรรมชาติ พื้นที่เกษตรกรรม ที่โล่ง แหล่งน้ำ ปาชายเลน หรือชายหาดซึ่งมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่คงความอุดมสมบูรณ์เป็นพื้นที่กันชนและสามารถรองรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 

2

ภาพตัวอย่างการแบ่งส่วนประกอบทางภูมิศาสตร์ (The Transact) ของชุมชนบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่มา: บริษัท พิพิธภัณฑ์เอเซีย จำกัด
 
สำหรับพื้นที่เมืองแม้จะมีบทบาทด้านการอนุรักษ์น้อยกว่าพื้นที่ธรรมชาติและการเกษตร แต่เมืองยังมีภารกิจในการดูแลรักษาโครงข่ายทางธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หรือพื้นที่รองรับน้ำที่ตั้งในเขตเมืองให้มีความสมบูรณ์ และเชื่อมต่อกับเส้นสายทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ  ที่สำคัญ  เมืองควรสร้างระบบการจัดการเพื่อขจัดปัญหาการรุกล้ำซึ่งกันและกันของโครงข่ายทางกายภาพ เช่น การรุกล้ำทางน้ำโดยโครงข่ายถนน  ทางรถไฟ และสาธารณูปโภค หรือการตั้งถิ่นฐานของประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
 
ดังนั้น  ยุทธศาสตร์โครงสร้างทางกายภาพที่รัฐต้องระบุในแผนยุทธศาสตร์ จึงได้แก่ 1) การคงความสมบูรณ์ของโครงสร้างทางกายภาพของพื้นที่ทั้งสองบริเวณ  2) การคงความสมบูรณ์ของแหล่งผลิตอาหาร และน้ำสะอาดที่ใช้ได้ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ  3) การสร้างข้อกำหนดในกฎหมายผังเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปกป้องพื้นที่ธรรมชาติและโครงข่ายให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตลอดเวลา และ 4) กำหนดให้พื้นที่ทั้งสองเป็นหน่วยสนับสนุนซึ่งกันและกันในภาวะวิกฤติภัยพิบัติ
 

การวางแผนปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

กลยุทธ์การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อบรรเทาภัยพิบัติตามแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (U.S. Environmental Protection Agency, 2011) มีดังนี้
 

3

ภาพตัวอย่างผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนละไม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่มา: บริษัท พิพิธภัณฑ์เอเซีย จำกัด
 

การส่งเสริมความหนาแน่น

แนวคิดทั้งสองมีเกณฑ์สอดคล้องกันในการส่งเสริมให้เกิดความหนาแน่นในเขตเมือง  ใจกลางย่านในเขตต่อเมืองและเขตชานเมืองโดยพื้นที่ศูนย์ชุมชนต้องมีกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่เข้มข้น ห้ามการกระจัดกระจายของเมืองหรือชุมชนไปยังพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ธรรมชาติหรือพื้นที่รองรับน้ำ
 

4

ภาพการส่งเสริมความหนาแน่นภายในใจกลางย่านธุรกิจของนิวยอร์ค
ที่มา: New York Architecture, 2010
 

การกำหนดขอบเขตเมืองหรือชุมชน

เมืองหรือชุมชนจึงต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน  สามารถแยกขอบเขตของแต่ละย่านหรือชุมชนออกจากกันได้ หรือแยกขอบเขตชุมชนออกจากพื้นที่การเกษตรหรือพื้นที่ธรรมชาติ  ในทางทฤษฏีขอบเขตที่เหมาะสมของศูนย์ชุมชนซึ่งจะเกิดความสะดวกในการจัดการภาวะวิกฤติไม่ควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกินกว่า 1 กิโลเมตร  อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติขอบเขตชุมชนอาจจะขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศหรือความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ในการจัดการก็ได้  สำหรับการจัดการในภาวะวิกฤติจะใช้พื้นที่ขอบเขตเมืองหรือชุมชนที่ได้รับการวางผังแล้วเป็นพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่นอกเหนือจากนี้แม้จะอยู่ในภาวะเสี่ยงก็จะถูกจัดความสำคัญในอันดับรอง
 

5

ภาพตัวอย่างการกำหนดศูนย์ชุมชนตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Samui TOD)
ที่มา : บริษัท พิพิธภัณฑ์เอเซีย จำกัด
 

การใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสม

ภายในพื้นที่ศูนย์ชุมชนต้องจัดให้มีกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน  โดยมีหน่วยบริการสำคัญๆ เช่น ตลาดสด ร้านค้าปลีก สถานีขนส่ง โรงเรียน  หรือสถาบันการศึกษา วัด โบสถ์หรือมัสยิด ผสมผสานและล้อมรอบด้วยที่พักอาศัย  ฯลฯ เหตุที่ต้องผสมผสานกิจกรรมเพราะต้องการให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้พื้นที่ และต้องการให้ศูนย์ชุมชนเป็นหน่วยหนึ่งของเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในภาวะวิกฤติ เป็นสถานที่สร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน
 

6

ภาพการใช้ที่ดินแบบผสมผสานของย่าน Brooklyn นิวยอร์ค
ที่มา : Brooklyn Daily Eagle, 2010
 

การกระชับกลุ่มอาคารในศูนย์กลางชุมชน

ผังเมืองและข้อกำหนดท้องถิ่นต้องอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารในแนวสูงในลักษณะกลุ่มอาคารได้เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดินและทรัพย์สิน ทั้งยังก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ที่ดิน โดยกลุ่มอาคารดังกล่าวต้องออกแบบให้เชื่อมต่อกันกับพื้นที่สาธารณะ สถานีขนส่ง  ตลาด ย่านพาณิชยกรรม และโรงพยาบาลหรือศูนย์สาธารณสุข ฯลฯ  กลุ่มอาคารแบบกระชับภายในใจกลางเมืองซึ่งผสมผสานกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพักอาศัยจะทำให้สมาชิกในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ในภาวะวิกฤติ
 

7

ภาพแสดงการกระชับกลุ่มอาคารและส่งเสริมอาคารแนวสูงบริเวณใจกลางชุมชน
ที่มา: .U.S.EPA, Smart Growth National Award, 2009
 

การสร้างกายภาพทางเดินให้เชื่อมต่อกัน

การเติบโตอย่างชาญฉลาดให้การส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างอาคารและบล๊อกที่ดินด้วยโครงข่ายทางเดินที่มีความสมบูรณ์  ในภาวะวิกฤติที่ขาดแคลนน้ำมันและไฟฟ้า โครงข่ายทางเดินจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการสัญจรและการเชื่อมต่อกับสถานที่ต่างๆ บางแนวคิดการพัฒนาเมืองได้ใช้ความสมบูรณ์ของโครงข่ายทางเดินในเมืองเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของการวางผัง และเป็นเครื่องบ่งชี้ประสิทธิภาพในการจัดการช่วงภาวะวิกฤติ
 
8
ภาพทางเดินขนาดใหญ่ (Pedestrian Mall) ถูกวางแผนให้เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายในย่านการค้าใจกลางกรุง Helsinki
ที่มา: Distraction, Reflections, 2011
 

การสร้างข้อกำหนดกายภาพเมืองตามแนวทาง Form-Based Code

รัฐต้องสนับสนุนให้ชุมชนและนักผังเมืองร่วมกันออกแบบกายภาพเมืองและจัดทำข้อกำหนดรายละเอียดการพัฒนากายภาพเมืองหรือ Form-Based Code-FBCs  ที่ลงลึกถึงประเภท รูปทรง และขนาดของมวลอาคาร  ซึ่งนอกจากประชาชนจะมองเห็นภาพร่างทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมของชุมชนในอนาคตได้แล้ว  นักผังเมืองหรือนักออกแบบชุมชนเมืองยังสามารถนำเอารูปแบบด้านกายภาพไปจัดทำแบบจำลองภาวะวิกฤติกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น การทำแบบจำลองสภาวะน้ำท่วม (Flood Simulation) ได้อีกด้วย  ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจนำไปปรับปรุง FBCs ให้มีความสมบูรณ์สอดคล้องกับการบรรเทาปัญหาภัยพิบัติมากยิ่งขึ้น
 

9

ภาพจำลองสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงบริสเบล ออสเตรเลีย
ที่มา : www.aamgroup.com
 

การวางแผนด้านที่อยู่อาศัย

U.S. Department of Housing and Urban Development ได้กำหนดกลยุทธ์การวางแผนที่อยู่อาศัยก่อนเกิดภัยพิบัติไว้ 3 ขั้นตอนคือ 1) การเลือกรูปแบบและสถานะของที่อยู่อาศัย ได้แก่ การศึกษาเพื่อหารูปแบบบ้าน  ประเภทวัสดุ และเทคนิคการก่อสร้างที่เหมาะสมกับสภาพของภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต   2) การประมาณราคาความสูญเสียของที่อยู่อาศัยได้แก่  การประมาณความเสียหายที่อาจเกิดจากภัยพิบัติซึ่งให้คาดการณ์ตามแบบจำลองที่สร้างขึ้น  โดยกำหนดระดับความสูญเสียไว้ 3 ระดับคือ มาก ปานกลาง และน้อย ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบในท้องถิ่นต้องเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณเพื่อรองรับหากเกิดปัญหาขึ้น  3) ทรัพยากรและระบบการผลิตวัสดุอุปกรณ์หลังภัยพิบัติ  ได้แก่ การเตรียมการจัดหาวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์หลังภัยพิบัติ เหตุที่ต้องศึกษาและจัดเตรียมแนวทางการผลิตวัสดุอุปกรณ์ไว้ก่อนเนื่องจาก หากวิกฤติการณ์เกิดขึ้นในวงกว้าง ท้องถิ่นอาจไม่สามารถจัดหาวัสดุและอุปกรณ์มาใช้ได้ หรือราคาของวัสดุอุปกรณ์อาจจะสูงกว่างบประมาณที่มีอยู่  ดังนั้น  การเตรียมการวางแผนการจัดหาไว้ก่อนจึงมีความจำเป็น
 

10

ภาพน้ำท่วมที่พักอาศัยบริเวณถนนจรัลสนิทวงศ์ กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2554
ที่มา : Baan BangAor Coffee, 2554
 

สรุป

แม้การวางผังทางกายภาพเมืองจะไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากภัยพิบัติได้ทั้งหมด แต่การเตรียมการด้านกายภาพไว้ก่อนอาจช่วยบรรเทาและลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้  ในบทความตอนต่อไป จะกล่าวลงลึกในรายละเอียดโดยจะชี้ให้เห็นวิธีการปรับปรุงฟื้นฟูกายภาพจำแนกตามประเภทของภัยพิบัติ  ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจประโยชน์ที่ได้จากการวางผังทางกายภาพมากยี่งขึ้น 

[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]

ชมวีดีโอ

เอกสารอ้างอิง
U.S. Environmental Protection Agency, Planning for Disaster Debris, Available from;
http://www.epa.gov/osw/conserve/rrr/imr/cdm/pubs/disaster.htm, May 13, 2012
U.S. Department of Housing and Urban Development, Pre-Disaster Planning for Permanent Housing Recovery, Available from: www.huduser.org/portal/publications/Pre_DisasterPlanningVol1.pdf., May 13, 2012

สมาคมการผังเมืองไทย

Related posts
สระบุรี ใช้ “สมาร์ทบัส” สายแรก เม.ย.62
February 19, 2019
5 บทความ TOD (การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน) ที่ไม่ควรพลาด
February 15, 2019
TOD ต้องใช้เกณฑ์อย่างเคร่งครัด บทความโดย ฐาปนา บุณยประวิตร
February 15, 2019
ภาษีกับการวางแผนการใช้ที่ดิน บทความโดย ฐาปนา บุณยประวิตร
February 9, 2019
การเก็บค่าธรรมเนียม T-Charge ใจกลางมหานครลอนดอน บทความโดย ดร.ปีดิเทพ อยู่ยืนยง
February 7, 2019
เขตปล่อยมลภาวะต่ำสุดในมหานครลอนดอน
February 2, 2019
อุดรธานี: กฎบัตรแรกของไทย
February 2, 2019
สุทธิชัย หยุ่น ถอดบทเรียนบริษัทพัฒนาเมือง ในฐานะ new platform รูปแบบการพัฒนาประเทศ
February 2, 2019
การกระตุ้นการใช้ที่ดินเพื่อสร้างเศรษฐกิจ บทความโดย ฐาปนา บุณยประวิตร
February 1, 2019
ยกระดับสตรีทฟู้ดอุดรธานีตั้งเป้า 2 ปีเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1.2หมื่นล้าน
January 29, 2019
อีเมล์รับข่าวสาร
ท่านสามารถลงทะเบียน เพื่อรับข่าวสารอิเล็คโทรนิกส์ เราจะส่งข่าวสารให้ท่าน ทางอีเมล์ เพื่อลงทะเบียนรับข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ กรุณากรอกรายละเอียด ของท่านและคลิกปุ่ม “Subscribe”
Name
Email *
Find Us On Facebook
 

 
  • สระบุรี ใช้ “สมาร์ทบัส” สายแรก เม.ย.62
    February 19, 2019
  • 5 บทความ TOD (การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน) ที่ไม่ควรพลาด
    February 15, 2019
  • TOD ต้องใช้เกณฑ์อย่างเคร่งครัด บทความโดย ฐาปนา บุณยประวิตร
    February 15, 2019
  • ภาษีกับการวางแผนการใช้ที่ดิน บทความโดย ฐาปนา บุณยประวิตร
    February 9, 2019
  • การเก็บค่าธรรมเนียม T-Charge ใจกลางมหานครลอนดอน บทความโดย ดร.ปีดิเทพ อยู่ยืนยง
    February 7, 2019
  • เขตปล่อยมลภาวะต่ำสุดในมหานครลอนดอน
    February 2, 2019
  • อุดรธานี: กฎบัตรแรกของไทย
    February 2, 2019
  • สุทธิชัย หยุ่น ถอดบทเรียนบริษัทพัฒนาเมือง ในฐานะ new platform รูปแบบการพัฒนาประเทศ
    February 2, 2019
  • การกระตุ้นการใช้ที่ดินเพื่อสร้างเศรษฐกิจ บทความโดย ฐาปนา บุณยประวิตร
    February 1, 2019
  • ยกระดับสตรีทฟู้ดอุดรธานีตั้งเป้า 2 ปีเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1.2หมื่นล้าน
    January 29, 2019