ปัจจัยการวางแผนการพัฒนาพื้นที่และระบบการเข้าถึงสถานีที่ผู้บริหารควรทราบ
ฐาปนา บุณยประวิตร (thapana.asia@gmail.com)
นายกสมาคมการผังเมืองไทย
ขอบคุณ บทความจาก ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11-14 สิงหาคม 2561
แผนงานที่ถูกต้องและการออกแบบตามเกณฑ์อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้พื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนมีศักยภาพระดับสูงในการสนับสนุนปริมาณผู้โดยสารแก่ระบบขนส่งมวลชนและสามารถสร้างย่านที่มีคุณภาพส่งมอบให้แก่เมือง Transit Cooperative Research Program หรือ TCRP ได้ร่วมกับ Federal Transit Administration หรือ FTA ออกรายงานการเตรียมการพัฒนาระบบการเข้าถึงสถานีเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนได้นำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งบทความฉบับนี้จะกล่าวถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการวางแผนการพัฒนาพื้นที่และระบบการเข้าถึงสถานีซึ่งผู้บริหารหรือนักวางแผนควรทราบ
ในการคัดเลือกปัจจัยของการวางแผน ผู้บริหารควรกำหนดให้ศึกษาและจัดทำข้อกำหนดหรือแนวทางการออกแบบพื้นที่และระบบการเข้าถึงสถานี โดยให้ดำเนินการตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ ซึ่งผู้บริหารควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบผลการศึกษา ติดตามการนำแนวทางไปใช้ในการออกแบบ รวมทั้งการนำแนวทางการออกแบบไปสู่การก่อสร้างหรือการปฏิบัติจริง
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการวางแผนการพัฒนาพื้นที่และการพัฒนาระบบการเข้าถึงสถานีมีอยู่ด้วยกัน 13 ข้อดังนี้
ปัจจัยแรก แนวทางหรือกระบวนการที่ดีที่สุดในการวางแผนพัฒนาสถานี
ปัจจัยที่สอง กลุ่มองค์กรหรือหน่วยงานใดที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการวางแผนและการออกแบบสถานี การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี และการพัฒนาระบบการเข้าถึงสถานี ซึ่งควรร่วมอยู่ในกระบวนการวางแผนด้วย
ปัจจัยที่สาม ประเภทการเดินทาง (travel modes) ใดที่มีความสัมพันธ์ต่อความสำเร็จของการออกแบบพัฒนาสถานี ลักษณะเด่นหรือปัจจัยที่ควรคำนึงถึงของแต่ละประเภทการเดินทางที่ต้องนำมาใช้ในกระบวนการวางแผนและการออกแบบ
ปัจจัยที่สี่ รูปแบบการส่งเสริมความหนาแน่นประชากรและกิจกรรมเศรษฐกิจ พร้อมทั้งรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use patterns) ใดที่มีอิทธิพลต่อการวางแผนและการออกแบบพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งการสร้างประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี
ปัจจัยที่ห้า จะสามารถประมาณการจำนวนผู้เดินทางที่ใช้สถานีด้วยระบบการเข้าถึงตามประเภทการเดินทางต่างๆ ได้อย่างไร และจะเชื่อมั่นต่อการผลการคาดการณ์ได้อย่างไร
ปัจจัยที่หก อะไรคือผลกระทบของที่จอดรถ (parking) ของสถานีที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาพื้นที่และต่อระบบการเข้าถึง
ปัจจัยที่เจ็ด จะสามารถบูรณาการความต้องการของผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชน (transit agency) ผู้ประกอบการพาณิชยกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนได้อย่างไร
ปัจจัยที่แปด จะสามารถวางแผนและการออกแบบผสมผสานระบบการเข้าถึงสถานีและการพื้นที่รอบสถานีระหว่างพื้นที่ปัจจุบันกับพื้นที่ที่จะก่อสร้างระบบเข้าถึงในอนาคต หรือการพัฒนาใหม่ได้อย่างไร
ปัจจัยที่เก้า จะสามารถบูรณาการแผนและการออกแบบการเข้าถึง รวมทั้งการยกระดับสภาพแวดล้อมด้วยระบบการสัญจรสีเขียว (green mobility) เช่น ทางเดิน ทางเดิน ทางจักรยาน ระบบขนส่งมวลชนรอง (อาจมีหลายระบบ) และรถยนต์ส่วนบุคคลได้อย่างไร
ปัจจัยที่สิบ อะไรคือแนวทางหลักในการเตรียมการและการจัดการที่จอดรถแล้วจร (park-and-ride) พร้อมรูปแบบการจอดรถประเภทต่างๆ บริเวณสถานีและโดยรอบสถานี
ปัจจัยที่สิบเอ็ด อะไรคือแนวทางและแผนการเตรียมการออกแบบพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) ซึ่งมีการบูรณการความต้องการของทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้แล้วทั้งทางด้านกายภาพ พาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย กิจกรรมสังคมและวัฒนธรรม นันทนาการ และการจัดการที่โล่งและภัยพิบัติ
ปัจจัยที่สิบสอง ได้มีการวางแผนสนับสนุนระบบการขนส่งมวลชนรอง (feeder) เช่น รถบัสหรือรถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็กด้วยมาตรการด้านต่างๆ ไว้อย่างไร เช่น การออกแบบระบบการเชื่อมต่อ ระบบการจัดการตั๋วร่วม หรือแม้แต่การสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนประเภทต่างๆ
ปัจจัยที่สุดท้าย มีแนวทางในการบริหารจัดการระบบการเข้าถึงสถานีด้วยผู้โดยสารจำนวนมากในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติอย่างไร
ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่และการพัฒนาระบบการเข้าถึงสถานีขนส่งมวลชนซึ่งผู้บริหารควรมองเห็นได้จากแผนงานและแนวทางในการออกแบบตั้งแต่แรก โดยปัจจัยต้นทางของแผนควรเป็นการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานี (TOD Strategic Plan) ร่วมกันระหว่างทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการรถขนส่งมวลชนและผู้ประกอบการพาณิชยกรรมในพื้นที่ ต่อมาจะเป็นรูปแบบของแผนการพัฒนาทั้งการพัฒนาพื้นที่และการออกแบบระบบการเข้าถึง (Station Access & TOD Design Plan) และการออกแบบระบบเข้าถึงหลายรูปแบบในพื้นที่สถานี (Multimodal Transportation Plan) สุดท้ายจะเป็นรูปแบบของการพัฒนาพื้นที่และการเข้าถึงสถานีที่อยู่ภายใต้การเอื้ออำนวยของการอนุญาตการใช้ที่ดินที่เหมาะสม การออกแบบปรับปรุงถนน และการพัฒนาความหนาแน่น (Land Use & Density Plan for TOD)
ขอบคุณ บทความจาก ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11-14 สิงหาคม 2561