พลังข้อตกลงร่วมกับการเพิ่มเศรษฐกิจ
ฐาปนา บุณยประวิตร
นายกสมาคมการผังเมืองไทย
ข้อตกลงร่วมกันของสังคมหรือ Social Collaboration เป็นอีกนวัตกรรมพัฒนาเมืองที่กำลังได้รับความนิยมของโลก สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาน่าจะเป็นประเทศแรกๆ ที่นำเอาข้อตกลงร่วมประยุกต์ใช้
ภาพ : การประชุมลงนามเบื้องต้น “กฏบัตรไมซ์ป่าตอง”
ข้อตกลงร่วมกันของสังคมเป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมหนึ่งที่ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนในการกำหนดมิติใหม่ (new dimension) การพัฒนา กำหนดทิศทางใหม่ (new direction) สร้างเครือข่ายทางสังคม (social networks) กระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการพัฒนาและสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนร่วมมือกันขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ
ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย
เดิมรูปแบบของข้อตกลงร่วมดำเนินการด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ทั้งการบอกต่อหรือปากต่อปาก (word of mouth) และการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น ต่อมา การจัดทำข้อตกลงร่วมได้พัฒนาเป็นการจัดกิจกรรมทางสังคมเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้สัมผัสกิจกรรมจำลองจริง ซึ่งการทดสอบจำลองสถานการณ์ (tactical urbanism) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่บางประเทศนำมาใช้ สำหรับสิงคโปร์ ได้พัฒนารูปแบบการตกลงร่วมโดยใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ โดยให้กลุ่มเป้าหมายเข้าทดสอบสถานการณ์จำลองที่จัดขึ้นแล้วแสดงความเห็นผ่านเครือข่ายทางสังคมออนไลน์
อย่างไรก็ตาม การจัดทำข้อตกลงร่วมที่นำมากันมากที่สุดได้แก่ การจัดทำกฎบัตร (charter) ทั้งกฎบัตรเมือง (city charter) และกฎบัตรแห่งชาติ (national charter) ที่อาจกำหนดเป็นวาระสำคัญในแต่ละเรื่องหรือการรวมหลายปัจจัยที่ประสงค์จะขับเคลื่อนพร้อมๆ กันในกฎบัตร
ในบางสถานการณ์ ข้อตกลงร่วมกันของสังคม มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองและเศรษฐกิจได้ทันที ไม่ต้องรอให้มีการปฏิบัติตามแผน เพียงให้ทุกภาคส่วนมีข้อคิดเห็นและเป้าหมายร่วมกัน (common goal) ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็สามรถนำผลสรุปไปดำเนินการต่อได้ทันที
กรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นประสิทธิภาพของข้อตกลงร่วมตามแบบฉบับของกฎบัตรในประเทศไทย ได้แก่ การประกาศลงทุนก่อสร้างศูนย์การประชุมนานาชาติของภาคเอกชนภายหลังกฎบัตรและเทศบาลเมืองป่าตองบรรลุข้อตกลงในการประกาศเจตนารมณ์ป่าตองเป็นเมืองไมซ์แห่งเอเชีย ซึ่งตามประกาศ ทุกหน่วยงานจะร่วมกันขับเคลื่อนการนำการประชุมประเภทต่างๆ เข้ามายังพื้นที่ ทำให้เกิดความต้องการที่คาดการณ์ได้ในอนาคตขึ้น ซึ่งนักลงทุนที่มองเห็นทิศทางและแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้ประกาศลงทุนเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรที่เดินทางเข้าประชุมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของกฎบัตร
ประสบการณ์การนำกฎบัตรและข้อตกลงร่วมกันของสังคมจากเมืองป่าตอง ได้เป็นกรณีศึกษาที่นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองได้นำมากล่าวในที่ประชุมนานาชาติวิชาการผังเมืองครั้งที่ 5 ที่จัดโดยสมาคมการผังเมืองไทยและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ทำให้ผู้บริหารเมือง ผู้ประกอ บการและนักลงทุนที่เข้าร่วมมองเห็นช่องทางในการกระตุ้นการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งนับจากนี้ ไทยเราคงได้เก็บเกี่ยวกรณีศึกษาดีๆ เป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริหารประเทศและผู้บริหารเมืองได้พิจารณานำมาใช้
ภาพ : การประชุมลงนามเบื้องต้น “กฏบัตรไมซ์ป่าตอง”
ภาพ : การประชุมลงนามเบื้องต้น “กฏบัตรไมซ์ป่าตอง”
ภาพ : การประชุมลงนามเบื้องต้น “กฏบัตรไมซ์ป่าตอง”
ขอบคุณบทความจาก กรุงเทพธุรกิจ คอลัมส์ EEC FOCUS วันที่ 7 มิถุนายน 2562