การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนต้องตอบโจทย์การพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ
ฐาปนา บุณยประวิตร
นายกสมาคมการผังเมืองไทย (thapana.asia@gmail.com)
ขอบคุณ บทความจากฐานเศรษฐกิจ
น่ายินดีที่ช่วง 3 ปีหลัง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development-TOD) ด้วยการวางแผนและการออกแบบพัฒนาพื้นที่กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแบบพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ กล่าวได้ว่า ทศวรรษนี้เป็นยุคทองของการพัฒนาเชิงพื้นที่รอบสถานีที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของวางแผนและการออกแบบ ได้พบจุดอ่อนและการด้อยมาตรฐานในบางด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ แผนงานส่วนใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐยังขาดการบูรณาการการพัฒนาเชิงพื้นที่กับภาคเอกชนและเจ้าของแปลงที่ดิน น้อยครั้งที่จะพบการสร้างโปรแกรมการพัฒนาร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์กับผู้ประกอบการเดินรถและหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือประเทศไทยยังคงติดกับดักวาทกรรม “การเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชน” จนหน่วยงานต่างๆ ไม่กล้าดำเนินการประสานแผนพัฒนา TOD ตามเกณ์ที่วางไว้
สำหรับการด้อยมาตรฐานการออกแบบที่ยังต้องปรับปรุงกันต่อนั้น ได้แก่ การวางแผนและการออกแบบระบบการเข้าถึงสถานีขนส่งมวลชน (Planning for Providing Access to Transit Station) เนื่องจากแผนงานนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับยกระดับการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ สถานีใดที่ออกแบบสถาปัตยกรรมงดงามอสังการ แต่ขาดการวางแผนระบบการเข้าถึงและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบตามมาตรฐาน สถานีนั้นจะมีค่าเพียงแค่จุดจอดรถ จะหามูลค่าทางเศรษฐกิจและระบบกายภาพที่สูงขึ้นของย่านซึ่งเกิดจากตัวสถานีไม่ได้
ปัจจัยและองค์ประกอบการออกแบบระบบการเข้าถึงสถานีตามมาตรฐานของ Federal Transit Administration หรือ FTA ที่สัมพันธ์กับการยกระดับศักยภาพของพื้นที่ สนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดมูลค่า ประหยัดการใช้ที่ดิน ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และกระตุ้นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งรัดวางแผนและนำไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย
ข้อแรก การวางแผนสร้างเครื่องมือและกระบวนการเพื่อการเข้าถึงสถานี (Station Access Planning Tools and Process) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดปัจจัยสู่ความสำเร็จของระบบการเข้าถึงตัวสถานีและเร่งรัดออกแบบกระบวนการในทุกประเภทการเดินทางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ข้อที่สอง ข้อมูลเชิงลึกของผู้ประกอบการขนส่งมวลชน (Insights from Transit Agencies) หน่วยงานควรนำแผนการลงทุนระบบการเข้าถึงที่ผู้ประกอบการจัดเตรียมไว้และแผนการออกแบบหรือการออกแบบปรับปรุงระบบการเข้าถึงสถานีประเภทต่างๆ บูรณาการกับแผนพัฒนาเมืองและแผนของนักลงทุน
ข้อที่สาม รูปแบบและประเภทสถานี ระบบการเข้าถึงสถานีด้วยประเภทการเดินทางต่างๆ และแนวทางในการกำหนดนโยบายการเข้าถึงสถานี (Station Typology, Access Modes, and Access Policy Guidance) มีความจำเป็นที่หน่วยงานต้องออกแบบปรับปรุงระบบการเข้าถึงอย่างเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญต่อระบบการเข้าถึงด้วยการเดิน การปั่น ระบบขนส่งมวลชนรอง หรือระบบขนส่งมวลชนหลักอื่นที่มาเชื่อมต่อ
ข้อที่สี่ การวิเคราะห์ความต้องการการเดินทาง (Travel Demand Analysis & Considerations) เป็นการศึกษาความต้องการการเดินทางในแต่ละรูปแบบ การสร้างแบบจำลองระบบการเข้าถึงสถานี (Station Access Model) และการประมาณการผู้เดินทางของทุกสถานี เข้าใจว่าปัจจัยนี้มีการดำเนินการอยู่แล้ว
ข้อที่ห้า การจัดทำแนวทางทั่วไประบบการเข้าถึงสถานี (General Station Access Guidance) ได้แก่ การจัดทำวัตถุประสงค์และเป้าหมายของระบบการเข้าถึง มาตรฐาน ทางเลือก และการจัดลำดับการออกแบบ โดยให้นำแนวทางนี้บูรณาการกับแผนพัฒนาเมืองและแผนการลงทุนของภาคเอกชน
ข้อที่หก การออกแบบระบบการเข้าถึงด้วยการเดินและการปั่น (Bicycle & Pedestrian Access to Transit) ได้แก่ การกำหนดเป้าหมาย การออกแบบเกณฑ์และมาตรฐาน และการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การประสานแผนการออกแบบรายละเอียดกายภาพพื้นที่รอบสถานี
ข้อที่เจ็ด การออกแบบระบบการเข้าถึงด้วยระบบขนส่งมวลชนหลักและรอง (Transit Access) ได้แก่ การออกแบบวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เกณฑ์และแนวทาง รูปแบบรถขนส่งมวลชนรอง การออกแบบและการจัดการ terminal ความสำคัญของปัจจัยอยู่ที่บูรณาการระบบการสัญจรและระบบการคมนาคมโดยรวม
ข้อที่แปด การเข้าถึงด้วยรถยนต์และจุดจอดแล้วจร (Automobile Access and Park-and-Ride) การกำหนดวัตถุประสงค์และรูปแบบการใช้ ผู้ใช้และการใช้งาน แผน เกณฑ์และแนวทางการใช้แผน การเตรียมการโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการและการซ่อมบำรุง
ข้อที่เก้า การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี โอกาสการพัฒนา รูปแบบและขนาดพื้นที่ แนวทางการพัฒนา การบริหารจัดการลงทุนและการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ ปัจจัยนี้เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการสร้างข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ต้องบูรณการกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ
จะเห็นได้ว่า การวางแผนออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูระบบการเข้าถึงสถานี มีความสำคัญและสัมพันธ์กับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี การพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นภารกิจของทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องบูรณาการแผนร่วมกันเพื่อสร้างความยั่งยืนของพื้นที่
ชมคลิป
ขอบคุณ บทความจากฐานเศรษฐกิจ